เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ฆราวาสปัญหา
ฆราวาสปัญหา
ปัญหาในการอยู่ครองเรือน
(พระราชาตรัสว่า)
[1449] “ท่านวิธุระ คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
จะพึงมีความประพฤติที่ปลอดภัยได้อย่างไร
จะพึงมีการสงเคราะห์ได้อย่างไร
[1450] จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างไร
และอย่างไรคนจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
คนจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร
[1451] วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร
มีปัญญาเห็นอรรถธรรม
กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลคำนี้
กับพระราชาพระองค์นั้นในธรรมสภานั้นว่า
[1452] “ผู้อยู่ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณ์1เป็นภรรยา
ไม่ควรบริโภคอาหารอันมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว
ไม่ควรส้องเสพกล่าวถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก
เพราะว่าคำอันให้ติดอยู่ในโลกนี้ไม่เป็นทางเจริญแห่งปัญญา
[1453] ผู้อยู่ครองเรือนควรเป็นคนมีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเห็นประจักษ์
มีความประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง
สงบเสงี่ยม พูดคำไพเราะจับใจ สุภาพอ่อนโยน
[1454] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร
จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำกิจการงาน
บำรุงสมณะและพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
1 หญิงสาธารณ์ หมายถึงภรรยาของคนอื่น ผู้ครองเรือนไม่พึงประทุษร้าย (เป็นชู้) ในภรรยาของคนอื่น
(ขุ.ชา.อ. 10/1452/226)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :410 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 9.วิธุรชาดก (546) ลักขณกัณฑ์
[1455] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม ทรงสุตะ
หมั่นสอบถาม เข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยความเคารพ
[1456] คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
ควรมีความประพฤติปลอดภัยอย่างนี้
ควรสงเคราะห์ได้อย่างนี้
[1457] ไม่ควรเบียดเบียนกันและกันอย่างนี้
และคนควรปฏิบัติอย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
จากโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้ด้วยประการฉะนี้”
ฆราวาสปัญหา จบ

ลักขณกัณฑ์
ตอนว่าด้วยลักษณะของบัณฑิต
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[1458] “มาเถิดท่าน ประเดี๋ยวเราจักไปกัน
พระราชาผู้เป็นใหญ่
ได้ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว
ขอท่านจงปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเท่านั้น
นี้เป็นธรรมเก่า
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[1459] “มาณพ ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านได้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระราชาผู้เป็นใหญ่ทรงพระราชทานให้ท่านแล้ว
แต่พวกเราขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนของตนสัก 3 วัน
และขอให้ท่านยับยั้งรออยู่ตลอดเวลา
ที่ข้าพเจ้าจะได้สั่งสอนบุตรทั้งหลายก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :411 }